บลจ.วรรณ เตรียมส่งกองทุนเปิด วรรณ STOXX อาเซียน ซีเล็ค ดิวิเดนด์ อินเด็กซ์ ฟันด์ (ONE-STOXXASEAN) คาดเสนอขายในเดือน มิ.ย. 58 ต้อนรับประโยชน์การรวมกลุ่ม AEC ปี 58 ผ่าน 4 Pillars
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ระบุว่าในช่วงสิ้นปี 2558 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนจะมีการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ 4 เสาหลัก (4 Pillars)
1) การรวมเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกันในการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน เงินทุน แรงงานที่มีทักษะอย่างเสรี
2) การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการออกนโยบายการแข่งขัน การปกป้องผู้บริโภค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปด้านภาษี
3) ความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) และการริเริ่มรวมตัวของกลุ่มอาเซียน (IAI) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาและดำรงเศรษฐกิจ และ
4) การผนวก AEC ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก โดยการมีปฏิสัมพันธ์และจุดยืนในเวทีเศรษฐกิจโลกและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเครือข่ายอุปทานทั่วโลก รวมทั้งการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่ใหญ่ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก ทำให้อำนาจการต่อรองของประเทศในกลุ่มอาเซียนปรับเพิ่มขึ้นตาม และส่งผลให้บทบาทการต่อรองของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นตามลำดับ
“ขณะที่ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนหากแยกเป็นรายประเทศจะเห็นได้ว่า แม้ว่าแต่ละประเทศมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนยังอยู่ในช่วงที่เติบโตและเป็นการเติบโตที่มีเสถียรภาพ โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนจะมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-6% ต่อปีในช่วงอีก 5 ปีถัดจากนี้ ซึ่งจะทำให้อาเซียนเริ่มเป็นภูมิภาคที่ได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ขณะที่กลุ่มประเทศที่เหลืออื่นๆ ในอาเซียนจะได้รับความน่าสนใจถัดไปในช่วงถัดจากนี้ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า (CLMV) หลังจากที่มีการพัฒนาประเทศและเปิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะพัฒนาถึง 10% ต่อปีได้ในช่วงถัดไป”
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ การเติบโตของประชากรในวัยแรงงานของกลุ่ม ASEAN ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 27.9 ปีซึ่งต่ำกว่าเยอรมันและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 45.3, 37.8 และ 28.4 ปีตามลำดับ รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตของทารกที่ลดลง ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รวมทั้งกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ก็จะส่งผลบวกต่อการบริโภคและการลงทุน และจะทำให้เพิ่มอำนาจการต่อรองให้แก่ประเทศในกลุ่มอาเซียนในด้านการค้าการลงทุนในตลาดโลก ซึ่งจะผลักดันให้บทบาทของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอาเซียนมีเพิ่มขึ้นด้วย” นายวิน กล่าว
สำหรับ มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน นอกจากความน่าสนใจของความแตกต่างของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนแล้วจะเห็นได้ว่าการปรับตัวของตลาดหุ้นอาเซียนเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การปรับตัวของตลาดหุ้นในแต่ละประเทศของกลุ่มก็มีความแตกต่างกันไปซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโตของตลาดหุ้นแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาจากการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ทำให้นักลงทุนสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนจากช่วงจังหวะเวลาของตลาดนั้นๆ ได้”
“ซึ่งจากมุมมองเชิงบวกจากทั้งด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน บลจ.วรรณ จึงเตรียมเสนอขายกองทุนเปิดวรรณ STOXX อาเซียน ซีเล็ค ดิวิเดนด์ อินเด็กซ์ ฟันด์ (ONE-STOXXASEAN) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดตั้งจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะเสนอขายได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งจะเป็นกองทุนลักษณะ Index Fund คือ การสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับการปรับตัวของดัชนี STOXX ASEAN SELECT DIVIDEND 30 INDEX โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นสามัญจำนวน 30 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX ASEAN SELECT DIVIDEND 30 INDEX ในสัดส่วนหรือน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับดัชนี (Fully Replication) โดยดัชนีฯ จะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนอัตราการจ่ายปันผลย้อนหลัง 12 เดือนสูงสุด 30บริษัทแรก โดยจำกัดประเทศละไม่เกิน 7 หลักทรัพย์ ขณะที่ไทย ไม่เกิน 5 หลักทรัพย์ และจะมีการประเมินและปรับเปลี่ยนน้ำหนักตราสารทุก 3 เดือน รวมทั้งจะกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละตัวในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มอาเซียนสามารถมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลประมาณ 4% ซึ่งสูงสุดในโลก รวมทั้งให้ผลตอบแทนที่ปรับค่าความเสี่ยงแล้วอยู่ที่ 18.93% ซึ่งสูงกว่าหลายๆ ดัชนี ASEAN อื่นๆ ทำให้มองว่าการลงทุนในกองทุนฯ นี้มีความน่าสนใจและน่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้ในอนาคต”
“ขณะที่ในด้านการประเมินมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นอาเซียนซึ่งมี ROE เฉลี่ยอยู่ในระดับประมาณ 15% ขณะที่ระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ PE ของหุ้นในตลาดโลก ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่สอดคล้องกันทั้งภูมิภาค ทำให้มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนจะเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักทรัพย์ที่น่าสนใจและยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก” นายวิน กล่าวโดยสรุป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น