กสอ. ชี้ยุคทองอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย รุกเสริมทักษะออนไลน์ ดันมูลค่าตลาดโต 30-40%
กรุงเทพฯ 13 กรกฎาคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย เร่งส่งเสริมขีดความสามารถและทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) แก่ผู้ประกอบการทั่วทั้งประเทศ 762 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็กประมาณ 520 ราย ขนาดกลาง 220 ราย และธุรกิจขนาดใหญ่ 22 ราย ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบธุรกิจสู่ตลาดออนไลน์ รับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล หลังพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและทั่วโลก หันมาช้อปปิ้งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น มั่นใจหากผู้ประกอบการไทยนำเอาระบบ ICT เข้ามาปรับใช้ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30-40 จากมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน 2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดในประเทศประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเครื่องสำอางไทยครองส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเป็นอันดับหนึ่งถึง ร้อยละ 40 เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยแมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ความชำนาญและคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา แต่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2559 การแข่งขันในตลาดเสรีย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเภท จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน ทั้งด้านต้นทุนการผลิตนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กล่าวว่า นโยบาย ดิจิทัล อีโคโนมี (Digital Economy) เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าส่งเสริมการนำเอาสื่อดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ ในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ที่พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญ ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) มาปรับใช้ในธุรกิจได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการใช้ประโยชน์ ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ประโยชน์จาก ICT คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย(ThaiCosmeticCluster) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ทั้งทางด้านวิชาการ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การค้า และการลงทุน โดยเป็น 1 ใน 68 คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการผลักดันของ กสอ. จึงได้เร่งดำเนินการสร้างความพร้อมให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้ระบบ ICT ซึ่งสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล รับกระแสความเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้สามารถรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กของคนไทย พบว่า คนไทยใช้แอปพลิชั่นไลน์ (LINE) สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 33 ล้านราย ใช้เฟซบุ๊ก(Facebook) สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ใช้งาน 28 ล้านราย ใช้ทวิตเตอร์(Twitter) 4.5 ล้านราย และใช้อินสตาแกรม (Instagram) 1.7 ล้านราย จากสถิติดังกล่าว ประกอบกับวิถีชีวิตคนปัจจุบันที่มีเวลาออกไปเดินซื้อสินค้าน้อยลง จึงชี้ให้เห็นว่าหากผู้ประกอบการไทยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ โดยนำเอาระบบICT เข้ามาปรับใช้สู่ตลาดออนไลน์ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30-40ขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในตลาดเสรี
ย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเภท จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน ทั้งด้านต้นทุนการผลิตนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย
ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงาม ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เครื่องหอม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 60 และตลาดส่งออกกว่า 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของธุรกิจ โดยขณะนี้เครื่องสำอางไทยครองส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเป็นอันดับหนึ่งถึง ร้อยละ 40 เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยแมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ความชำนาญและคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องสำอางทั่วทั้งประเทศประมาณ 762 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็กประมาณ 520 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 68ขนาดกลาง 220 ราย หรือ ร้อยละ 29 และธุรกิจขนาดใหญ่ 22 ราย คิดเป็น ร้อยละ 3 นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
ด้าน ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามเนเชอร์รัล โปรดักซ์ จำกัด เจ้าของสกินแคร์ แบรนด์สโนว์เกิร์ล(Snow Girl) กล่าวว่า การนำ ICT มาปรับใช้ในธุรกิจถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก จากที่ก่อนหน้า 4-5 ปีก่อน ทางบริษัทจะเน้นส่งขายในร้านสะดวกซื้อ และมีหน้าร้านอยู่ตามห้างสรรพสินค้าเพียงเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงของผู้บริโภคไม่มากพอ แต่หลังจากนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยขณะนี้บริษัทได้ทำเว็บไซต์ www.snowgirljapan.com สำหรับประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารพูดคุยกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 30 ทั้งนี้ นอกจากประโยชน์ด้านการสื่อสารแล้ว ข้อดีของเทคโนโลยีออนไลน์คือผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงช่วยให้การขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศทำได้โดยง่ายมาก โดยขณะนี้บริษัทมีฐานลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว และในอนาคตก็ได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทร. 0 2202 4575, 4581และสามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม โครงการ ต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr
###
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น