TPCH คาดปีนี้ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง ประมูลเพิ่มอีก 36 MW สยายปีกลุยกัมพูชา-ลาว แบบเต็มสูบ ต่อยอดแขนขาให้ธุรกิจ
TPCH คาดปีนี้ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง “มหาชัย กรีน เพาเวอร์-ทุ่งสัง กรีน -พัทลุง กรีน เพาเวอร์-สตูล กรีน เพาเวอร์” มั่นใจรายได้โต 150% จากปีก่อน ด้านผู้บริหาร “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” เผยเดินหน้าประมูลโครงใหม่อีก 36 เมกะวัตต์ สยายปีกลุยกัมพูชาและลาว เสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มช่องทางการลงทุนในอนาคต พร้อมโชว์ศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวล “ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์”
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่าในปี 2559 คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องจ่ายไฟ (COD) ได้จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟได้ภายในไตรมาส 1/2559 2.โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน เดินเครื่องจ่ายไฟได้ภายในไตรมาส 2/2559 3.โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟได้ภายในไตรมาส 3/2559 และ 4.โรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟได้ภายในไตรมาส 4/2559
ขณะเดียวกันบริษัทยังมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโต 150 % จากปี 2558 หลังทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถจ่ายไฟได้เรียบร้อยแล้วจำนวน 2 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย โรงไฟฟ้า ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้าหมายการดำเนินงานระยะยาว 5 ปี หรือภายในปี 2563มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์
“บริษัทคาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบแบบ Feed in Tariff (FiT) เชิงพาณิชย์ได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้อีก 1 โครงการคือมหาชัย กรีน เพาเวอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์อยู่จำนวน 2 แห่งคือช้างแรกกับแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่และในเดือนมิถุนายนปีนี้บริษัทก็เตรียมเข้าประมูลโครงการใหม่ในพื้นที่ภาคใต้อีก 36 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะได้ เพราะเรามีประสบการณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้มายาวนาน มีพันธมิตรที่ดีและยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้อีกด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง กล่าวอีกว่าบริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลออกไปในประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มช่องทางการลงทุนในอนาคต ส่วนล่าสุดได้เซ็น MOU กับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา เพื่อศึกษาการเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิตประมาณ 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 30 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้า ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 9.2 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้เริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นครั้งแรก (COD) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้า ชีวมวลโครงการแรกของบริษัทที่สร้างผลประกอบการออกมาได้น่าประทับใจมาก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น