“อมตะ” มั่นใจปี59ยอดขายโตตามเป้า เล็งเปิดดิวส์แรกของปีประเดิม500 ไร่
“อมตะ” มั่นใจยอดขายที่ดินปี 59 ได้ตามเป้า 1,000 ไร่ ประเมินไตรมาสแรกเติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของกลุ่มลูกค้ารายเดิม ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และเริ่มคว้ารายใหม่จากทุนเกาหลี เผยเร็วๆนี้เตรียมเซ็นสัญญาล็อตใหญ่ ใช้พื้นที่ประกอบการ400-500 ไร่
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกมีทิศทางที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยอมตะมั่นใจว่าจะมียอดขายที่ดินเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือประมาณ 900-1,000 ไร่ จากกลุ่มลูกค้ารายเดิมที่ต้องการ ขยายพื้นที่โรงงานแห่งที่ 2และลูกค้ารายใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง นอกจากกลุ่มนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น แล้ว ยังมีกลุ่มนักลงทุนใหม่ๆ เช่น เกาหลี เป็นต้น
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาส่วนใหญ่ในขณะนี้ จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมยาง เป็นต้น และคาดว่าจะมีสัญญาณการลงทุนที่ดีในอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากนโยบายการสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมดังกล่าวยังจะสามารถเชื่อมโยงการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่งอยู่แล้ว
นายวิบูลย์กล่าวว่า ภายในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาที่จะใช้พื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมประมาณ 400 – 500 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีนักลงทุนเข้ามาศึกษาพื้นที่ และเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีน ในหลายมณฑล ซึ่งอมตะได้มีการจัดโซนพื้นที่การลงทุนสำหรับนักลงทุนจีนไว้แล้ว ทำให้นักลงทุนจีนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นที่จะตัดสินใจลงทุน ประกอบกับรัฐบาลจีนมีความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนด้านการลงทุนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน
“นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มองว่าเป็นผลดีและไม่ส่งผลกระทบต่อการย้ายฐานหรือการดึงดูดนักลงทุนที่จะเข้ามาในนิคมที่มีการลงทุนอยู่แล้ว แต่มองว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการลงทุนซึ่งกันและกันในรูปแบบของคลัสเตอร์บางอุตสาหกรรม แต่สำหรับนิคมฯอมตะนคร และนิคมฯอมตะซิตี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นการลงทุนสำหรับคลัสเตอร์อุตฯยานยนต์จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกมากกว่า ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบในพื้นที่ในการใช้เพื่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เป็นส่วนใหญ่”
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 59จะมีสัญญาณการลงทุนที่เป็นบวก มีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีชั่นของการลงทุนในนิคมฯที่นักลงทุนจะเริ่มองหาพื้นที่การลงทุนใหม่ๆ ตามนโยบายของบริษัท
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น