PwC เผย “ทุจริตจัดซื้อ” ภัยคุกคามธุรกิจไทยปี 60 แนะตรวจเข้มคู่ค้าหวังลดปัญหาฮั้วประมูล


กรุงเทพ, 7 มีนาคม 2560  PwC เผยการทุจริตจัดซื้อจะกลายเป็นภัยที่คุกคามธุรกิจไทยในปี 2560 หลังผลสำรวจพบ ภาคธุรกิจกว่า 90% เชื่อปีนี้มีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อภายในองค์กรของตัวเอง ระบุสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากคนในร่วมมือกับคู่ค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดการฮั้วในขั้นตอนการเลือกผู้ค้า แนะตรวจเข้มขั้นตอนการคัดเลือกผู้ค้า อีกทั้งประเมินความพร้อม และตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการทุจริต 

นาย วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic servicesบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานสัมนา PwC Forensics Summit ซึ่งจัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในองค์กรจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบและป้องกันอาชญากรรมทางการเงินของภาครัฐและภาคเอกชน จากทั้งในและนอกประเทศว่า จากการสำรวจผู้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้กว่า 400 รายพบว่า ผู้ถูกสำรวจมากถึง 93% ระบุว่า มีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อ (Procurement fraud) กับธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งการทุจริตจัดซื้อนี้ ถือเป็นปัญหาและภัยร้ายแรงที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก

สอดคล้องกับผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ PwC’s 2016 Global Economic Crime Survey: Economic crimin Thailand ประจำปี 2559 ของ PwC ประเทศไทย ซึ่งทำการสำรวจองค์กรและภาคธุรกิจหลายประเภท ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในประเทศพบว่า การทุจริตจัดซื้อจะเป็นปัญหาการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นอันดับ ของไทยในปีนี้ รองจากการยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) และ การรับสินบนและคอร์รัปชั (Bribery and corruption) ในอันดับที่ 3

ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นจากพนักงานภายในองค์กร ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบการทุจริต โดยผลสำรวจในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ถูกสำรวจเกือบ 80% ยอมรับว่า การกระทำทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากคนในทั้งนั้น รวมถึงปัญหาการทุจริตจัดซื้อด้วย” นาย วรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุของการทุจริตจัดซื้อที่พบส่วนใหญ่ เกิดจากการที่พนักงานสมรู้ร่วมคิดกับคู่ค้า (Third party vendors)และบ่อยครั้งก็มีการฮั้วในขั้นตอนการเลือกผู้ค้า (Vendor selection process) ดั้งนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่องค์กรต่างๆ จะต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐาน(Due diligence) ของพนักงานและคู่ค้า และควรครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบุคคลที่สามที่เป็นผู้ค้าของบริษัทในปัจจุบัน หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นผู้ค้า (Third party relationships) ด้วย

หากบริษัทมีการประเมินความพร้อม และตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ค้าตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ค้าผ่านการค้นหาและสอบทานข้อมูลภูมิหลังโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดทุจริตในขั้นตอนการประกวดราคา การจัดซื้อจัดจ้าง และการชำระเงินได้นาย วรพงษ์ กล่าว

นาย วรพงษ์ กล่าวต่อว่า การทุจริตที่เกิดจากบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้ค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัท (Third party vendors and business partners) อาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง อันเนื่องมาจากความเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน โดยผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) พบว่า 75% ของเหตุการณ์คอร์รัปชันจำนวน 427 เหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 2542 ล้วนเกี่ยวข้องกับการชำระเงินที่ไม่เหมาะสม ผ่านตัวกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (Third party intermediaries)

ในส่วนของประเทศไทย นาย วรพงษ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายยังคงต้องร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งนี้ จากผลการจัดอันดับ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2559โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International’s 2016 Corruption Perceptions Index) พบว่า ไทยตกมาอยู่ที่อันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ซึ่งถือเป็นลำดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 2556 ซึ่งเวลานั้นไทยอยู่ในอันดับที่ 102

ค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยล่าสุด ถือว่ารั้งท้ายประเทศกลุ่มเศรษฐกิจบริคส์ และคิวบาที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าทุกฝ่ายยังคงต้องทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้ หากต้องการให้ไทยเป็นประเทศที่น่าดึงดูดต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ นาย วรพงษ์ กล่าว

นาย วรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานสัมมนา PwC Forensics Summit ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านอาชญากรรมทางการเงินที่แข็งแกร่งให้กับสังคมไทย ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายอย่างที่กล่าวไป คือ การมีระบบการควบคุมป้องกันที่รอบด้านและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการขยายขอบเขตการตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐาน และครอบคลุมทั้งการรู้จักตัวตนของลูกค้า การตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและบุคคลที่สามที่ทำธุรกิจ หรือกำลังจะทำธุรกิจร่วมกับบริษัทที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรมทางการเงิน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ITE ร่วมกับ SCG ฉลองการทำงานครบ 600,000 ชั่วโมง โดยปราศจากอุบัติเหตุ มั่นใจด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

FER ดึงตัวผู้บริหารหญิงคนเก่ง จาก PSTC ลุยธุรกิจพลังงาน “ชุตินันท์ กิจสำเร็จ” นั่งบอร์ดและเป็นผู้บริหารรุกธุรกิจด้านพลังงานเต็มตัว

หุ้นไอพีโอ ASN สุดฮอต! จองหมดตั้งแต่วันแรก คาดนักลงทุนพลาดหวังรอเก็บเพิ่มในกระดาน