BWG เซ็น กนอ.ศึกษาตั้งนิคมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ใช้แล้ว ปักหมุดทันที 3 ภาค กลาง/ออก/ตกโซนอุตสาหกรรม/เชื่อม AEC

BWG  จับงานใหญ่เซ็น กนอ.ศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเป็นโครงการแรกของไทย หลังสบช่องรัฐสนับสนุนผลิตพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ขณะ กนอ.มุ่งสนับสนุนการสร้างนิคมที่ได้มาตรฐาน  และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “สุวัฒน์    เหลืองวิริยะ” เผยเตรียมปักหมุดศึกษาพร้อมกัน 3 ภาค กลางและตะวันออกที่เป็นโซนอุตสาหกรรม และภาคตะวันตกที่เป็นพื้นที่เชื่อมเขตอุตสาหกรรมกับเพื่อนบ้านเพื่อรองรับ AEC ขณะ ผู้ว่าการ กนอ.ระบุ เชื่อมั่น BWG เพราะมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการกากฯ พร้อมสนับสนุนให้การศึกษาสำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อเป็นนิคมฯ ต้นแบบและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

                 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการร่วมดำเนินงานโครงการ ศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) ผู้นำในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งฝังกลบ เผาทำลาย นำกลับมาใช้ใหม่และเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทนรายเดียวในประเทศไทย โดยมีนางอรรชกา สีบุญเรืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี

   นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า  กนอ. ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ใช้แล้วที่ได้มาตรฐานสากล เพราะนอกจากจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดตามกฎระเบียบของ  กนอ. แล้ว ยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมที่ไม่มีมูลค่า มาพัฒนาเป็นพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศได้อีกด้วย ซึ่งหากจัดตั้งได้สำเร็จจะสามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในอนาคต ตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ ซึ่ง กนอ. พร้อมให้การสนับสนุนให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างสะดวกภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง ทั้งทีมสำรวจพื้นที่ และการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

             “กนอ. มอบหมายให้บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)เป็นผู้รวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ เข้ามาศึกษาถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเกิดประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจนี้อย่างครบวงจร” นายวีรพงศ์ กล่าว
                นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชนหรือ BWG กล่าวว่า  โครงการศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเกิดขึ้นเพื่อต้องการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และสามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว โดยผ่านการคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม

            “โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสานต่อนโยบายของ  กนอ. ที่ต้องการให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสากล เข้ามารองรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุนการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการนำกลับมาใช้ใหม่และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี และมองว่าเป็นประโยชน์หากธุรกิจประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกันภายใต้ระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย และข้อบังคับ ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจาก กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ประกอบการที่จะมีที่ตั้งโรงงานที่มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน เป็นประโยชน์ต่อทางภาครัฐที่สามารถควบคุมและกำกับดูแลโรงงานได้อย่างใกล้ชิดด้วยระบบที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของภาครัฐ  ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ ที่นอกจากจะสามารถลดปริมาณกากอุตสาหกรรมได้แล้ว ยังได้พลังงานเข้ามาใช้ในประเทศอีกด้วย” นายสุวัฒน์กล่าว

                 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน กล่าวอีกว่า โครงการนี้มีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 1 ปี โดยเบื้องต้นจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 ภูมิภาคของไทย คือ ภาคกลาง/ปริมณฑล และภาคตะวันออก ในโซนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก   รวมทั้งภาคตะวันตกที่จะเชื่อมกับโซนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจอาเซียน รองรับการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  ในอนาคต และหากโครงการนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วก่อตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบสำหรับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างแท้จริง

                  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ITE ร่วมกับ SCG ฉลองการทำงานครบ 600,000 ชั่วโมง โดยปราศจากอุบัติเหตุ มั่นใจด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

FER ดึงตัวผู้บริหารหญิงคนเก่ง จาก PSTC ลุยธุรกิจพลังงาน “ชุตินันท์ กิจสำเร็จ” นั่งบอร์ดและเป็นผู้บริหารรุกธุรกิจด้านพลังงานเต็มตัว

หุ้นไอพีโอ ASN สุดฮอต! จองหมดตั้งแต่วันแรก คาดนักลงทุนพลาดหวังรอเก็บเพิ่มในกระดาน