กสอ. เสริมแกร่งอุตฯ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมดาวเด่นในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์เป้าหมาย
กรุงเทพฯ 21 ธันวาคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเสริมแกร่งพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์เป้าหมาย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่และศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่สำคัญของภาคเหนือ โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เนื่องจากมีสถานบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2559 กสอ. มีแผนที่จะผลักดันคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณรวมกว่า 130 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานประกอบการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ตลอดจนสนับสนุนโครงการอื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมซูเปอร์คลัสเตอร์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงที่กำลังเติบโตอย่างมาก และมีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมหลักไทย และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญรองรับการเป็น Medical Hub of Asia โดยตลาดอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2558 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 1.21 มูลค่ารวม 71.5 พันล้านบาท ตลาดการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 11.62 และตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.90 ส่วนใหญ่ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางและพลาสติก เป็นต้น(ที่มา: รายงานสภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย ปี 2558 ,สถาบันพลาสติก)
ดร. สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400 โรงงาน แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มวัสดุใช้สิ้นเปลือง กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มน้ำยาเคมีและชุดตรวจวินิจฉัย และกลุ่มบริการและซอฟท์แวร์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เนื่องจากมีสถานบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานกว่า 50 แห่ง ประกอบกับมีโอกาส ทางการตลาดจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการให้บริการด้านทันตกรรมศัลยกรรมและบริการทางด้านสุขภาพอื่น ๆ (ที่มา: แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2558-2561)
นอกจากแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีศักยภาพและพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว กสอ. ยังมีแผนที่จะผลักดัน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ตามกรอบ แนวทางการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ของรัฐบาล คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ และกลุ่มอุตสาหกรรมเมดิคัล ฮับ ด้วยงบประมาณในการพัฒนาคลัสเตอร์รวมกว่า 130 ล้านบาท นอกจากนี้ กสอ. ยังมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งและเป็นรากฐานในการรองรับการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป ดร.สมชายกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซา ซีแลม จำกัด ศูนย์กลางการผลิตฟันปลอม กล่าวว่า บริษัท เอ็กซา ซีแลมดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตฟันปลอมและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางทันตกรรม โดยเริ่มต้นกิจการตั้งแต่ปี 2538 เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการฟันปลอมและเครื่องมือจัดฟันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย สำหรับการตัดสินใจเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นฐานการผลิตฟันปลอมและอุปกรณ์ทันตกรรมของเอ็กซา เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้มแข็งไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่มีคู่แข่งน้อย ประกอบกับเชียงใหม่ขึ้นชื่อในเรื่องของความถนัดและความประณีตด้านงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา เอ็กซา ได้รับการยอมรับจากคลินิกทันตกรรม และบริษัทผลิตงานแลบ (LAB) ทั้งในและต่างประเทศในเรื่องคุณภาพสินค้า และการได้รับรองมาตรฐานการจัดการ ISO 9001:2008 และสิ่งแวดล้อม 14000:2004, CSR, รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภคประจำปี 2554 และองค์กรต้นแบบ Happy Work Place จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ เอ็กซา มีผลิตภัณฑ์ฟันเทียมหลากหลายประเภท อาทิ แบบติดแน่น แบบถอดได้ และ งานทันตกรรมจัดฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการผลิตและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 50-60
นายอนุชา กล่าวต่อว่า องค์ความรู้ที่นำมาต่อยอดและพัฒนาในการดำเนินธุรกิจ ส่วนหนึ่งมาจาก การเข้าร่วมโครงการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ส่งผลให้มีแนวทางในการพัฒนารูปแบบธุรกิจ อย่างรอบด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการพัฒนาบุคลากร ผลที่ได้คือสามารถปรับผังโรงงานใหม่เหมาะสมกับกระบวนการผลิต มีความรวดเร็วในการรับคำสั่งซื้อและการสั่งงาน และสามารถลดอัตราของเสียเหลือเพียงร้อยละ 8.78 จากเดิมอัตราของเสียมีอยู่ถึงร้อยละ 12 ของกระบวนการผลิตทั้งหมด อีกทั้งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตสามารถรองรับคำสั่งซื้อได้มากขึ้นเป็น 500-700 เคสต่อวัน จากเดิมได้เพียง 400 เคสต่อวัน โดยคาดว่าภายหลังได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเคอร์ ทางบริษัท เอ็กซา จะมีศักยภาพความเข้มแข็งขึ้นจากความร่วมมือกับห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ประกอบกับการ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลต่อฐานลูกค้าที่ขยายตัวขึ้น และคาดว่าจากปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น