SOLAR พร้อมรับงานโซลาร์ฟาร์ม ชูจุดเด่นมีโรงงานผลิตแผงในไทย-สินค้ามีคุณภาพรับประกัน 25 ปี
SOLAR พร้อมรับงานโซลาร์ฟาร์ม ชูจุดเด่นมีโรงงานผลิตแผงและแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ในไทย สินค้าได้คุณภาพรับประกัน 25 ปี มีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญในการให้คำแนะนำการออกแบบ ติดตั้ง ด้านหัวเรือใหญ่ SOLAR “ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง” เผยผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว 100 MW และรับจ้างออกแบบติดตั้ง (EPC) อีก 100 MW
นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) (SOLAR) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคัดเลือกและผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์ม จากกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียบร้อยแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.58) จะมีการจับสลาก เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 600 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมที่จะรับงานดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่มีโรงงานอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับล่าสุดได้ขยายกำลังการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เฟส 2 จากกำลังการผลิตเดิม 70 เมกะวัตต์ต่อปี เป็น 200 เมกะวัตต์ต่อปี ส่วนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดของโลก
ขณะเดียวกันแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมจากประเทศเยอรมัน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น รวมทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยด้วยและที่สำคัญบริษัทฯ ยังมีบริการหลังการขายสามารถเปลี่ยนแผงให้ได้ทันทีถ้าสาเหตุเกิดจากความบกพร่องจากผลิตภัณฑ์ของ SOLAR เอง นอกจากนั้นยังมีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญในการให้คำแนะนำการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์มเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถรับประกันคุณภาพของสินค้าของบริษัท เป็นเวลา 25 ปี
“SOLAR ผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์มเรียบร้อยแล้ว โดยของ SOLAR ขอเอง 100 เมกะวัตต์ และรับเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่สำรวจ ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Engineering, procurement and Construction: EPC) อีก 100 เมกะวัตต์ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) จะมีการจับสลาก โดย SOLAR เองก็มีความพร้อมที่จะรับงานโซลาร์ฟาร์ม เพราะมีโรงงานอยู่ในประเทศ มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ มีแผงและแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ที่พร้อมรองรับงานดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว” นางปัทมา กล่าวในที่สุด
***********************************
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น