อิตัลไทยวิศวกรรม ผนึก PESCO และ Solarcon ฉลองความสำเร็จสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการ “บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์” และ “โซลาร์วา นครปฐม”
อิตัลไทยวิศวกรรม ผนึก PESCO และ Solarcon ฉลองความสำเร็จสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการ “บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์” และ “โซลาร์วา นครปฐม”
จำนวน 12 โครงการ รวมกำลังการผลิต 91.7 เมกะวัตต์
“อิตัลไทยวิศวกรรม” ภายใต้ อิตัลไทย กรุ๊ป ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านวิศกรรมมากกว่า 49 ปี ผนึก บริษัท โปรเซสเอ็นจิเนียริ่งเซอร์วิส จำกัด(PESCO) และบริษัท โซลาร์คอน จำกัด (Solarcon) ฉลองความสำเร็จพัฒนาโครงการ “บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์” และ “เสนา โซลาร์”จำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ รวมกำลังการผลิต 91.7 เมกะวัตต์ รวมมูลค่าลงทุนมากก่า 5,000 ล้านบาท พร้อมส่งมอบงานใช้เวลาก่อสร้างเพียง 10 เดือน และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
นายสกล เหล่าสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้นำตลาดทางด้านวิศวกรรมการก่อสร้างแบบครบวงจรด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 49 ปี ภายใต้ “อิตัลไทย กรุ๊ป”เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจออกแบบ และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลและพลังงานจากขยะ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน สถานีไฟฟ้าแรงสูง งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน ปิโตรเคมี และโรงงานขนาดใหญ่ และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของอาคารสูง และในปี 2558 บริษัทฯได้ร่วมงานกับ บริษัท โปรเซสเอ็นจิเนียริ่งเซอร์วิส จำกัด ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับ บริษัท โรงพยาบาลยันฮี จำกัด, บริษัท บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด) และ บริษัท โซลาร์วา จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด) จำนวน 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 91.7 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนครปฐมและพระนครศรีอยุธยา โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าและขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันเวลา ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
สำหรับโครงการต่างๆ ของ “บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์” และ “โซลาร์วา นครปฐม” มีทั้งหมด 12 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้ “โครงการบี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ มีจำนวน 9 โครงการ” ได้แก่ ไทรหลวง 1 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 2 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 3 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 9 (7.2 MW, 115 kV), ไทรหลวง 10 (7.5 MW,115 kV), ไทรใหญ่หน้า (8 MW, 115 kV), ไทรมะนาว (8 MW, 115 kV),ไทรพุทรา (8 MW, 22 kV) และไทรเสนา 2 (5 MW, 22 kV) และ“โครงการโซลาร์วา นครปฐม (B.Grimm–Sena Solar) มีจำนวน 3โครงการ” ได้แก่ ไทรแสบ (8 MW, 22 kV), ไทรลุ้ยริมน้ำ (8 MW, 115 kV) และไทรฉลวย (8 MW, 115 kV) ด้วยงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท โดยสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย
นายสกล กล่าวต่อว่า บริษัทฯรับผิดชอบงานในส่วนของการออกแบบ จัดหา และก่อสร้าง พร้อมติดตั้ง ทดสอบ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พร้อมสถานีไฟฟ้าย่อย 115/22 kV การติดต่อประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและคณะกรรมการกิจการพลังงาน (ERC) ในการทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า (PPA) ให้กับเจ้าของงาน และการขออนุมัติก่อสร้างและทดสอบจ่ายไฟในแต่ละโครงการ จนสามารถต่อเชื่อม เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครบทุกสัญญา ได้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ก่อนกำหนดเวลาที่รัฐบาลกำหนดคือ 31 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ ในปี 2558 ถือเป็นปีแห่งงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของบริษัท โดยสามารถก่อสร้างและจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์รวมกว่า 139 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 10 เมกะวัตต์ โดยนอกเหนือจากโครงการดังกล่าว บริษัทฯยังได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อีก 2 โครงการ เสร็จทันเวลาตามกำหนดเวลาของรัฐบาลดังกล่าว คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ อยู่ในเครือบริษัท ซุปเปอร์ บล๊อก จำกัด (มหาชน) ขนาด 41 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบหมุนตามแสงอาทิตย์ของบริษัท SunEdison ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดลพบุรี และในขณะเดียวกัน ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริษัทฯก็ได้ร่วมกับบริษัท โกลด์วินด์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กับบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิน อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด (iWIND) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ IFEC group เสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และปัจจุบันก็กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้โครงการชัยภูมิวินด์ฟาร์มให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO) ขนาด 80 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 50 และมีกำหนดจ่ายไฟภายในปี 2559 นี้
“อิตัลไทยวิศวกรรม ตั้งเป้าการรับรู้รายได้ในปี 2559 ไว้ที่ 5,600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีมูลค่างานในมือ (backlog) กว่า 6,000ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าว นอกเหนือจากรายได้จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแล้ว ยังมาจากงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง งานก่อสร้างระบบประกอบอาคารสูง งานก่อสร้างโรงงานและสาธารณูปโภคในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน และแก๊สและงานก่อสร้างระบบจ่ายสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม และบริษัทฯยังคงเดินหน้ารับงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศเนื่องจากความชำนาญและผลงานที่สามารถส่งมอบโครงการภายในกำหนดเวลาด้วยคุณภาพและความพึงพอใจแก่ลูกค้า บริษัทฯ มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ” นายสกล กล่าวปิดท้าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น