กสอ.จับมือ สสว. สร้างคลัสเตอร์ 17 เครือข่าย คาด 1 ปี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 530 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 20 มกราคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สนองนโยบายรัฐบาล จับมือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมกลุ่มคลัสเตอร์ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรม 17 เครือข่าย อาทิเครือข่ายอุตสาหกรรมชา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายผ้าทอพื้นเมืองอุดรธานี และเครือข่ายอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยหวังให้ “คลัสเตอร์” (Cluster) เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่าน “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด” ภายใต้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วนเพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดภายใน 1 ปี เกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจ 530 ล้านบาท ลดต้นทุน ได้ 65 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า SMEs ส่วนใหญ่ประสบปัญหาหลักเกิดจาก "ความสามารถของประเทศไทยถดถอย" เพราะที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงส่งออกมากถึง 60% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงกระทบต่อการส่งออกโดยตรงและส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 99 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP) ถึง 3.75 ล้านล้านบาท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านผลิตภาพ (Productivity) และการคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คือ การวมตัวกันเป็นกลุ่มของอุตสาหกรรม หรือที่เรียกสว่า “คลัสเตอร์” (Cluster) ตามนโยบายของรัฐบาล
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า คลัสเตอร์เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ในลักษณะสร้างเครือข่าย ที่เรียกว่า “Business Networking” ในลักษณะการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)และนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ ส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเหตุนี้ จึงมอบหมายให้ กสอ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันมีคลัสเตอร์ที่พัฒนาแล้วรวม 77 คลัสเตอร์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ กสอ. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่บริหาร “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด” ภายใต้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วน โดยร่วมกันคัดเลือกคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพรวม 17 เครือข่าย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย SMEs ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) คลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมืองอุดรธานี 2)คลัสเตอร์ผู้ผลิตและแปรรูปผลไม้ภาคตะวันออก 3 ) คลัสเตอร์ของฝากของที่ระลึก จังหวัดเลย 4 ) เครือข่ายผักผลไม้แปรรูปกลุ่มยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง 1 5) เครือข่ายธุรกิจแฟชั่น (Bangkok Fashion Cluster) 6)เครือข่ายอุตสาหกรรมชา จังหวัดเชียงราย 7) คลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม 8) เครือข่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม จังหวัดแพร่ 9)คลัสเตอร์ต่อตัวถังรถบัส จังหวัดราชบุรี 10) คลัสเตอร์นมโคและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมโค จังหวัดมหาสารคาม 11) คลัสเตอร์ข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด 12 ) คลัสเตอร์บรรจุภัณฑ์โลหะ 13) คลัสเตอร์ข้าวและข้าวแปรรูป
นอกจากนี้ยังมี 14) คลัสเตอร์เซรามิกลำปาง จังหวัดลำปาง 15) เครือข่ายอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง 16 ) คลัสเตอร์เครื่องหนังไทย (Thai Leather Cluster) และ 17) เครือข่ายอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Thai Food Cluster) จากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งนี้การดำเนินงานจะเน้นกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดเชิงรุกหรือการสร้างนวัตกรรมทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ คาดว่าภายใน 1 ปี จะผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการพัฒนามากกว่า 2,000 ราย เกิดนวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้มากกว่า 5 เรื่อง และเกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 530 ล้านบาท ลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้จัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ โดยได้รับเกียรติจากนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการจากลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม และคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย แถลงข่าวร่วมกันในการเปิดตัวโครงการฯ นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs หลังเปิด AEC” โดย อ.เกษมสันต์ วีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC ดร.สมชาย กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาธุรกิจ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 202-4575 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น