ราชบุรีโฮลดิ้งจับมือ CGN และ GIG พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กำลังผลิตรวม 2,360 เมกะวัตต์ ในเขตปกครองตนเองกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน

RATCH ร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 มูลค่าโครงการกว่า 200,000 ล้านบาทในประเทศจีน
จับมือ CGN บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ชั้นนำ และ GIG บริษัทลงทุนชั้นนำของจีน ร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 กำลังผลิตรวม 2,360 เมกะวัตต์
ผลตอบแทนระยะยาว 30 ปี เสริมกระแสเงินสดและรายได้มั่นคงในระยะยาวเริ่มรับรู้ปี 2564 
วางฐานธุรกิจในประเทศจีน และจับมือพันธมิตรระดับโลกอย่าง CGN ขยายพอร์ตพลังงานสะอาดในอนาคต
นนทบุรี- บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ("RATCH") ประสบความสำเร็จการร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังระยะที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ China General Nuclear Power Corporation (“CGN”) และ Guangxi Investment Group Company Limited (“GIG”) ทั้งสามฝ่ายได้ลงนามสัญญาร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัท กวางสี ฟังเชงกัง นิวเคลียร์ เพาเวอร์ II  จำกัด (Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II))ซึ่งจะเป็นผู้พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 โดย RATCH ลงทุนในนาม RATCH China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ร่วมถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนร้อยละ 10 ขณะที่ CGN และ GIG ถือหุ้นร้อยละ 61 และร้อยละ 39 ตามลำดับ

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมทุนครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จในการวางฐานธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งมี CGN บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ชั้นนำรายใหญ่ของจีนเป็นพันธมิตร และพร้อมจับมือกันแสวงหาการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดในประเทศไทย และอาเซียน โครงการฟังเชงกังระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท (40,000 ล้านหยวน) โดยจะเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของบริษัทฯ ตามการถือหุ้นประมาณ 7,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากเงินปันผลในปี 2564 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 ปี ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า

“ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ระดับโลกและมีไลน์ธุรกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์แบบครบวงจรของ CGN เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจร่วมทุนในครั้งนี้ ปัจจุบัน CGN มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องแล้ว 16 แห่ง กำลังผลิตรวม 17.08 กิกะวัตต์ (ร้อยละ 60 ของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ) และอีก 11 ยูนิต กำลังผลิตรวม 13.64 กิกะวัตต์ (ร้อยละ 50ของกำลังผลิตของจีน) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการลงทุนในพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานสะอาดในยุโรปและเอเชียอีกจำนวนมาก การตัดสินใจยังคำนึงถึงประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมุ่งหมายที่จะให้บุคลากรคนไทยได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถ เพิ่มพูนประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนทักษะเชิงเทคนิคด้านพลังงานนิวเคลียร์จาก CGN ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 30 ปี อีกทั้งได้เรียนรู้ความสำเร็จและประสบการณ์ของCGN ในการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย” นายรัมย์ กล่าว

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ห่างจากชายแดนเวียดนาม 45 กิโลเมตร โครงการมีอายุ 60 ปี ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

จากการร่วมทุนดังกล่าว บริษัทฯ ยังรับรู้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 236 เมกะวัตต์ ส่งผลให้จำนวนกำลังผลิตจากพลังงานสะอาด (พลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และนิวเคลียร์) เพิ่มขึ้นเป็น 720.79 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตรวมจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้นเป็น 6,814.12 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังเป็นโครงการขนาดใหญ่ กำลังผลิตรวมประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ แบ่งการพัฒนาออกเป็นสามระยะ โครงการระยะที่ 1 ประกอบด้วยหน่วยการผลิตที่ 1 และ 2 ก่อสร้างและเดินเครื่องผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการระยะที่ 2 ซึ่งบริษัทฯ เข้าร่วมทุนด้วยนั้น ประกอบด้วยหน่วยผลิตที่ 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์ ได้เริ่มก่อสร้างหน่วยผลิตที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี และยังเป็นหน่วยผลิตแห่งแรกของจีนที่ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ HRP 1000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ที่ CGN พัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีแบบน้ำแรงดันสูง (Pressurized Water Reactor-PWR) ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเน้นระบบความปลอดภัยทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างรัดกุม  





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ITE ร่วมกับ SCG ฉลองการทำงานครบ 600,000 ชั่วโมง โดยปราศจากอุบัติเหตุ มั่นใจด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

FER ดึงตัวผู้บริหารหญิงคนเก่ง จาก PSTC ลุยธุรกิจพลังงาน “ชุตินันท์ กิจสำเร็จ” นั่งบอร์ดและเป็นผู้บริหารรุกธุรกิจด้านพลังงานเต็มตัว

หุ้นไอพีโอ ASN สุดฮอต! จองหมดตั้งแต่วันแรก คาดนักลงทุนพลาดหวังรอเก็บเพิ่มในกระดาน